วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เทศกาลลอยกระทง


เทศกาลลอยกระทง จ.สุโขทัย ประเทศไทย

ประมาณเดือนพฤศจิกายน



งานประเพณีลอยกระทงของไทย มีมาแต่สมัยสุโขทัยโดยมีคติความเชื่อว่าเป็นการบูชา และขอขมาพระแม่คงคาเป็นการสะเดาะเคราะห์และบูชาพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์ หรือเป็นการบูชารอยพระบาทเป็นต้น งานลอยกระทงเริ่มทำตั้งแต่ กลางเดือน 11 ถึงกลางเดือน 12
ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำจะเต็มสองฝั่งแม่น้ำ ที่นิยมมากคือ ช่วงวันเพ็ญเดือน 12 เพราะพระจันทร์เต็มดวง ทำให้แม่น้ำใสสะอาด แสงจันทร์ส่องเวลากลางคืน เป็นบรรยากาศที่สวยงาม เหมาะแก่การลอยกระทง
          บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน กล่าวไว้ว่า การลอยพระประทีป ลอยกระทงนี้เป็นนักขัตฤกษ์ที่รื่นเริงทั่วไปของชนทั้งปวงทั่วกัน ไม่เฉพาะแต่การหลวง แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่มีพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์อันใดเกี่ยวข้องเนื่องในการลอยพระประทีปนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าใจว่า ตรงกับคำที่ว่า ลอยโคมลงแช่น้ำเช่นกล่าวมาแล้ว แต่ควรนับถือว่าเป็นราชประเพณีซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามแต่โบราณ ตั้งแต่พระนครยังอยู่ฝ่ายเหนือ เมื่อตรวจดูในกฎมนเฑียรบาลซึ่งได้ยกมาอ้างในเบื้องต้น ต่อความที่ว่าพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคมลงน้ำไป มีข้อความต่อไปว่า "ตั้งระทาดอกไม้ในพระเมรุ 4 ระทา หนัง 2 โรง" การเรื่องนี้ก็คงจะตรงกันกับที่มีดอกไม้เพลิงที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามและที่ชลาทรงบาตร บูชาหอพระในพระบรมมหาราชวัง ต่อนั้นไปก็ว่าด้วยการลอยพระประทีปที่ว่าในกฎหมายนี้มีเนื้อความเข้าเค้าเรื่องนพมาศ ซึ่งว่า ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเป็นพระสนมเอก แต่ครั้งพระเจ้าอรุณมหาราช คือพระร่วง ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินสยาม ตั้งแต่กรุงตั้งอยู่ ณ เมืองสุโขทัย ได้กล่าวไว้ว่าในเวลาฤดูเดือนสิบสองเป็นเวลาเสด็จลงประพาสในลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน พระอัครมเหสีและพระสนมฝ่ายใน ตามเสด็จในเรือพระที่นั่งทอดพระเนตรการนักขัตฤกษ์ ซึ่งราษฎรเล่นในแม่น้ำตามกำหนดปี เมื่อนางนพมาศได้เข้ามารับราชการ จึงได้คิดอ่านทำกระทงถวายพระเจ้าแผ่นดิน เป็นรูปดอกบัวและรูปต่างๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำไหล และคิดคำขับร้องถวายแด่พระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระดำริจัดเรือพระที่นั่งเทียบขนานกันให้ใหญ่กว้าง




เอกลักษณ์ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ เป็นที่เลื่องลือ มีทั้งกระทงทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ งานฝีมืออันวิจิตรที่สะท้อนความประณีตของช่างศิลป์เมืองสุโขทัย ตลาดปสานโบราณ หรือ ตลาดแลกเบี้ย การจำลองบรรยากาศการซื้อ ขาย แบบโบราณ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงกลิ่นอายวัฒนธรรมด้วยการแลกหอยเบี้ยแทนเงินสด เพื่อใช้ซื้อขาย อาหารพื้นเมือง และการแสดงแสง สี เสียง สัมผัสเรื่องราวประวัติศาสตร์มนต์เสน่ห์แห่งอารยธรรมเมืองมรดกโลก
          พิธีและกิจกรรมในภาคกลางวันจะมีขบวนแห่นางนพมาศ และการออกร้าน จัดนิทรรศการ ส่วนในเวลากลางคืนจะมีการประดับไฟหรือจุดเทียนตามโบราณสถานต่างๆ ซึ่งมีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ของงานประเพณีลอยกระทงสุโขทัย มีจุดประทีปโคมไฟตามโบราณสถาน 3 วัน3 คืน มีการลอยกระทง และจุดดอกไม้ไฟอย่างสวยงามทั่วท้องน้ำและตระพังต่าง ๆ ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีการจัดประกวดกระทงการแสดงแสงเสียงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัย ณ บริเวณวัดมหาธาตุ ตลอดจนการแสดงนาฏศิลป์ และมหรสพต่าง ๆ




  สำหรับงานเผาเทียน จังหวัดสุโขทัยได้จัดให้มีพิธีเผาเทียนแบบโบราณบริเวณหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยเชิญชวนให้ประชาชนทั้งหลายร่วมพิธีซื้อตะคัน เผาเทียนบูชาพระรัตนตรัย จุดแล้วนำไปวางบนฐานหรือระเบียงโบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ โบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ทำให้เกิดแสงสว่างระยิบระยับนับร้อยนับพันดวง เป็นบุญกุศลที่ได้ร่วมแรงศรัทธาพร้อมกัน




 นอกจากนี้ ในงานยังมีประเพณี ข้าวขวัญวันเล่นไฟซึ่งเป็นการรับประทานอาหารร่วมกันของผู้มาเยือนเมืองสุโขทัยในโอกาสงานประเพณีเผาเทียนเล่นไฟ ช่วงเวลาประมาณ 18.00-19.30น. วัตถุประสงค์สำคัญ คือ เป็การรักษาธรรมเนียมไทยในการเลี้ยงข้าวปลาอาหาร เพื่อสร้างความรักความเข้าใจ กระชัสัมพันธไมตรี ทำให้เกิดความสุขความเจริญตลอดทั้งปี บรรยากาศในงานมุ่งเน้นเอกลักษณ์ไทย ทั้งการแต่งกายแบบไทย ๆ การนั่งล้อมวงบนเสื่อ การใช้โตกแทนโต๊ะอาหาร การเลือกอาหารพื้นบ้าน การตั้งอาหารย้อนสู่ยุคสุโขทัยเป็นราชธานี การแสดงของท้องถิ่นสุโขทัย ตลอดจนการบรรเลงดนตรีไทย โดยประเพณี ข้าวขวัญวันเล่นไฟเริ่มจัดเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2536 และจัดต่อเนื่องมาทุกปี
สำหรับกิจกรรมอื่น นอกเหนือจากการลอยกระทง เผา เทียน เล่นไฟ และข้าวขวัญวันเล่นไฟ มีดังนี้
          • ชมโบราณสถานในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ยามค่ำคืน Light Up
          • ชมและเลือกซื้อสินค้าของดีสหกรณ์ 4 ภาค และผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น(OTOP)
          • ชมการแสดงตำนานเรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์
          • พิธีรับรุ่งอรุณแห่งความสุข พร้อมร่วมพิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์สุโขทัยทุกพระองค์ ณ บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
          • ชมขบวนอัญเชิญพระประทีป และกระทงพระราชทาน ขบวนแห่ประเพณีวัฒนธรรม 9 อำเภอ และขบวนนางนพมาศ











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น